วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

หมูป่า

0







"ทหารถูกฝึกมาก็เพื่อภารกิจ พิทักษ์ รักษา ช่วยเหลือและพัฒนา"

#ถอดบทเรียนทางทหาร แบบฝ่ายเสธนาธิการ โดย พ.อ.วันชนะ สวัสดี

กรณีการบริหารจัดการของท่านผู้ว่า "ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร"

ก่อนอื่นเลยต้องขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของน้องทั้ง13คนและขอชื่นชม จนท.ทุกฝ่ายรวมถึงน้ำใจของคนไทยและต่างชาติ ที่ร่วมแรงร่วมใจให้อุปสรรคการช่วยเหลือ น้องทั้ง13คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จนพบทั้ง13คน ได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งที่ ทุกคนชื่นชมรวมทั้งผมด้วยเห็นจะเป็นภาวะผู้นำของท่านผู้ว่า ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ที่ได้บริหารจัดการ การเข้าช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ บริหารทั้งการจัดการและความรู้สึกของ จนท. และผู้ติดตามข่าวและผู้สื่อข่าว

ในฐานะที่เป็นทหารและผ่านการศึกษาที่โรงเรียนเสธนาธิการทหารบกมา จึงขอวิเคราะจำแนกการบริหารในครั้งนี้กับหลักการทางทหารสักหน่อย กล่าวได้ว่า เหมือนท่านเรียนเสธรุ่นพี่ผมเลย โรงเรียนเสธคงต้องเชิญท่านมาบรรยายสักหน่อยแล้ว เริ่มกันเป็นข้อๆเลยครับ


#สาย1กำลังพล
การรักษายอดกำลังพล มีการลงทะเบียน เซ็นชื่อเข้าออกพื้นที่เพื่อการตรวจสอบคนทำงานว่ามีใครสูญหายหรือไม่

การจัดการกำลังพล กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยเพื่อป้องกันการสูญเสียกำลังพล และยุทโธปกรณ์โดยไม่จำเป็น จากที่ผู้ว่าเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน การเดินสายไฟต้องไม่รั่ว เพราะอาจเกิดอันตรายต่อหน่วยซีล

การพัฒนารักษาขวัญ มีการพบปะพูดคุยให้กำลังใจทั้งผู้ร่วมงานและผู้ปกครองของเด็กโดยตลอด
การรักษาวินัย กฏ ข้อบังคับ และคำสั่ง จากกรณีผู้ที่ไม่มีบัตรไม่สามารถเข้าไปยังในถ้ำได้ แสดงให้เห็นถึงความเข้มงวดในการรักษาวินัย

การจัดการภายใน บก. มีการกำกับดูแลการใช้พื้นที่ จัดระเบียบพื้นที่ต่างๆเช่นพื้นที่จอดรถ เป็นต้น

#สาย2การข่าวกรอง
มีการใช้ข้อมูลในการตกลงใจ ไม่ตัดสินใจโดยอาศัยความรู้สึก อาศัยข้อมูลจากทีมต่างๆในเรื่องของภูมิประเทศลมฟ้าอากาศในการตัดสินใจแต่ละเรื่อง เช่นการเบี่ยงทางน้ำ การสูบน้ำ การค้นหาโพรง การเดินสายไฟเครื่องสูบน้ำ ฯลฯ

การแถลงข่าวทำให้ผู้ร่วมงานมองเห็นภาพข่าวเดียวกัน ไม่เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน

#สาย3ยุทธการ(ปฏิบัติการ)
ทั้งๆที่มีหน่วยงาน หรืออาสาสมัครจากเอกชน ทั้งของไทยและนานาชาติ หลากหลายความรู้ความสามารถ เช่น ทีมวิชาการ(ธรณีวิทยาและอื่นๆ) ทีมแพทย์พยาบาล ทีมดำน้ำ ทีมลาดตระเวนสำรวจป่า ทีมสูบน้ำ ทีมจราจร ทีมล่าม ทีมเจาะบาดาล ทีมสนับสนุน เช่นอาหาร น้ำ ไฟฟ้า น้ำมัน การติดต่อสื่อสาร ลำเลียงสิ่งของ ฯลฯ แต่ผู้ว่าฯสามารถประสานการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดกัน เป็น Line of Effort หลายๆ Line ที่ประสานสอดคล้องกันนำไปสู่ความสำเร็จ

การวางแผนมีทั้งแผนระยะสั้น ระยะยาว แผนระยะสั้นคือการค้นหา ช่วยเหลือ ส่งกลับสายแพทย์จากพื้นที่ไปจนถึงโรงพยาบาล แผนระยะยาวมองถึงการฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจเด็กๆ ฟื้นฟูที่นาที่ถูกน้ำท่วม ฟื้นฟูถ้ำหลวง
สำหรับแผนระยะสั้น การค้นหา ช่วยเหลือ มีการประเมินเพื่อปรับแผนกันตลอดเวลา มีการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆอย่างละเอียดก่อนการตกลงใจ มีการซักซ้อมแผนเพื่อค้นหาข้อบกพร่องนำมาแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

#สาย4การส่งกำลังบำรุง
​มีความพร้อมในการส่งกำลัง สป.ต่างๆทั้ง สป.1 อาหาร สป.3 น้ำมัน เครื่องสูบน้ำที่ต้องใช้น้ำมัน สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

​การวางแผนส่งกลับผู้ป่วยมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน ถูกต้องตามมาตรฐานทางการแพทย์ ​การขนส่ง มีการจัดการจราจร จุดจอดรถ จุดรับส่งผู้ที่จะมาปฏิบัติงานในพื้นที่ ทำให้ไม่คับคั่ง ไม่กีดขวางการทำงาน

#สาย5กิจการพลเรือน(ในที่นี้หมายถึงการประสานงานหน่วยงานต่างๆ)
​การรับมือกับนักข่าวถือเป็นกรณีศึกษา ผู้ว่าฯรับมือได้ดีมาก การแถลงข่าวตรงจุด สั้นแต่เข้าใจได้ใจความ ไม่กลัวไม่เกรงใจนักข่าว แต่ก็ไม่แข็งกร้าว สามารถจัดระเบียบนักข่าวไม่ให้กีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้โดยที่ไม่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือกระแสด้านไม่ดี

​นอกจากการรับมือกับนักข่าวแล้ว ยังสามารถจัดการกับข่าวลือตามโซเชียลได้เป็นอย่างดี สามารถชี้แจงให้กระจ่าง ลดความสับสน ให้ข่าวที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ


#การควบคุมบังคับบัญชา
​พันธกิจของผู้บังคับบัญชาที่สำคัญ (Critial Function)
1. การบังคับบัญชาหน่วยรอง (Command the Force) ผบ.จะเป็นผู้สั่งการและรับผิดชอบเพียงผู้เดียว บทบาทในฐานะผบ.เหตุการณ์ของผู้ว่าฯจะเห็นได้ชัดว่า เป็นผู้มีอำนาจสั่งการเต็มในพื้นที่ ทุกอย่างจะดำเนินการได้ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าฯก่อนเสมอ

2. ต้องทราบสถานการณ์อยู่เสมอ (Knows the situation) จะเห็นได้ว่าผู้ว่าฯทราบสถานการณ์โดยรอบอย่างกระจ่าง เข้าใจทุกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อภารกิจ สามารถชี้แจงนักข่าวได้อย่างแจ่มแจ้ง เข้าใจในขีดความสามารถของส่วนต่างๆที่มาสนับสนุน สามารถใช้ขีดความสามารถนั้นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างเหมาะสม

3. การมอบภารกิจ (Assigns Mission) ผบ.จะต้องแน่ใจว่าภารกิจของแต่ละหน่วยจะเกื้อกูลต่อแผนการปฏิบัติเป็นส่วนรวม จะเห็นได้ว่าแต่ละหน่วยได้รับภารกิจจากผู้ว่า ซึ่งแต่ละภารกิจจะเกื้อกูลต่อแผนการช่วยเหลือโดยรวมทั้งสิ้น

4. การประกอบกำลังที่เหมาะสม (Allocates Means)

5. การตัดสินใจ (Makes Decisions) การตัดสินใจถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผบ.หน่วย สถานการณ์ในแต่ละวันต้องมีปัญหาเฉพาะหน้าให้ผู้ว่าฯต้องตัดสินใจอยู่เสมอ แต่ผู้ว่าฯสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดและเหมาะสมกับข้อมูลที่มีอยู่

6. อำนวยการและผนึกการใช้กำลังทั้งมวล (Directs and Synchronizes Force) สามารถประสานหน่วยงานต่างๆให้ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

7. ดำรงสถานภาพกำลังรบ (Sustains Forces) มีการผลัดเปลี่ยนกำลังให้มีความสดชื่นอยู่เสมอ

8. ชักจูงใจหน่วยรอง(สร้างขวัญ)ให้มีความรุกรบ (Motivates Subordinates) ผู้ว่าฯให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอ ให้ความเชื่อมั่นในการค้นหา เชื่อว่าสามารถค้นหาได้เจอแน่นอน ปลุกขวัญผู้ร่วมงานให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง

ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้น้องทั้ง13คนกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวโดยเร็ววัน ท้ายสุดที่อยากเขียนถึงก็คือ ทหารถูกฝึกมาก็เพื่อภารกิจ พิทักษ์ รักษา ช่วยเหลือและพัฒนาครับ

#SmartmanSmartsoldier #ถอดบทเรียน #ผู้พันเบิร์ด #การจัดการ #ฝ่ายเสนาธิการ #ภาวะผู้นำ #ผู้ว่าราชการจังหวัด #เชียงราย #ถ้ำหลวง

เครดิต : พ.อ.วันชนะ สวัสดี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น